100 ปี สืบสานและส่งต่อ

มีนาคม 2023 : เดือนแห่งการเข้าสู่ธรรม

การพูดคำว่าไม่!

By: ศึกษา เทพอารีย์. Posted in สารอภิบาล

The Power of a Positive No!

โทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีหลายสมัยของอังกฤษกล่าวไว้ว่า ‘ศิลปะการเป็นผู้นำไม่ได้อยู่ที่การพูดคำว่า ใช่ แต่อยู่ที่การพูดคำว่า ไม่’

‘ไม่’ เป็นถ้อยคำทรงพลังที่สุดทั้งในด้านสร้างสรรค์และทำลาย ซึ่งคนส่วนใหญ่ลำบากใจต้องพูดออกมา แต่หากรู้วิธีใช้อย่างถูกต้อง การปฏิเสธก็เป็นขุมพลังที่สามารถพลิกชีวิตให้ดีขึ้นได้ราวกับพลิกฝ่ามือ

การปฏิเสธเป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจตลอดมา แต่ไม่มียุคไหนสมัยไหนที่ทักษะในการปฏิเสธจะมีความสำคัญมากเท่ากับยุคปัจจุบัน การปฏิเสธจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งนัก โดยเฉพาะบรรดาผู้นำทั้งหลาย!

การบรรยายของนักเจรจาชาวอเมริกันผู้มีฝีปากระดับโลก วิลเลียม ยูรีย์ เจ้าของหนังสือขายดีหลายเล่ม อาทิเช่น Getting to Yes, Getting Past No ล่าสุด คือ The Power of a Positive No! ในชื่อภาษาไทย พลังแห่งการปฏิเสธ ความสามารถและประสบการณ์ของวิลเลียม ยูรีย์ที่ถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ และที่สำคัญ เคล็ดลับเหล่านั้นสามารถนำมาใช้ลดความขัดแย้ง และความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเราได้อย่างดี

กุญแจสำคัญของการปฏิเสธเชิงบวก คือ การเคารพนับถือในตนเองและสิ่งที่สำคัญ ซึ่งต่างจากการตามใจตัวเอง ขณะเดียวกันก็แตกต่างจากการโต้แย้ง เพราะต้องแสดงความนับถือผู้อื่น เป็นการยืนอยู่บนฝ่าเท้าตัวเอง มิใช่ไปเหยียบลงบนเท้าผู้อื่น

ตัวอย่างของผู้นำระดับโลกที่ใช้ความสามารถในการปฏิเสธเป็นเคล็ดลับสำคัญสู่ความสำเร็จ คือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ อภิมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งผู้แทนที่บิล เกตส์ไปแล้ว ได้เปิดเผยว่า เขาจะนั่งอ่านและพิจารณาโครงการลงทุนต่างๆ ตลอดทั้งวัน และเพียงแต่พูดคำว่า ไม่ ไม่ ไม่ และ ไม่ จนกว่าจะค้นพบโครงการที่ตรงกับความต้องการจริงๆ จึงจะพูดคำว่า ใช่ สรุปว่าที่ชีวิตของวอร์เรน บัฟเฟตต์ประสบความสำเร็จมาได้ทุกวันนี้ ก็เพราะพูดคำว่า ‘ใช่’ เพียงไม่กี่ครั้งในชีวิต และบอกการปฏิเสธออกไปนับพันๆ ครั้ง

โปรดจำไว้ว่า การปฏิเสธคือ การบอกผู้อื่นถึงสิ่งที่เขาไม่อยากรับฟัง ดังนั้น การให้เกียรติจะทำให้เขาเปิดรับและเข้าใจในสิ่งที่คุณต้องการสื่อสารมากขึ้น แทนที่จะละทิ้งมันไปโดยไม่สนใจรับฟัง ทั้งยังช่วยลดปฏิกิริยารุนแรง และเปิดโอกาสให้เกิดการตอบรับในทางบวกมากขึ้น ยิ่งตั้งใจที่จะปฏิเสธอย่างเด็ดขาดมากเท่าไร ยิ่งต้องให้เกียรติมากขึ้นเท่านั้น

การให้เกียรติเป็นการยอมรับผู้อื่นในราคาต้นทุนต่ำสุด แต่ได้รับผลตอบแทนสูงสุด จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ปรัชญาขององค์กรชั้นนำระดับโลก จะให้ความสำคัญแก่การให้เกียรติพนักงาน คู่ค้า ชุมชน และลูกค้า

การให้เกียรติเป็นกุญแจไขประตูความคิดและจิตใจของผู้อื่น สังเกตดูง่าย คนที่มีบุคลิกนอบน้อมถ่อมตน ให้เกียรติทุกคน ก็จะเป็นที่ยอมรับแก่ทุกคนเช่นกัน และยังสามารถเข้าไปนั่งในใจของทุกคนได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น การให้เกียรติจึงไม่เป็นเพียงสิ่งที่ควรทำ แต่ยังเป็นสิ่งที่ทำแล้วได้ผลสูงสุดโดยเฉพาะในยามที่ต้องปฏิเสธ

credit: http://www.gracezone.org/index.php/management-article