รักออกแบบได้
มีคำถามหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้ยินเมื่อไม่นานมานี้ ถามว่า อะไรที่หายไปจากชีวิตของคนเราในยุคดิจิตัล ...
และคำตอบที่ได้รับคือ ความเห็นอกเห็นใจ สังคมยุคดิจิตัลเราแสดง ออกผ่านการโพสต์แสดงความคิดเห็น และหลายครั้งในหลายเหตุการณ์ เราแสดงความคิดเห็นโดยไม่จำเป็นต้องรู้ที่มาที่ไป เราแสดงความคิดเห็นโดยไร้ความรับผิดชอบ ขาดการเอาใจใส่ ไม่ชอบ ไม่พอใจ ก็ใส่กันไม่ยั้ง ไม่ต้องสนใจความรู้สึก หรือหากพึงพอใจ ก็เป็นการชอบแบบผิวเผิน สัมผัสไม่ได้ ทำให้ยุคสมัยปัจจุบันคนเราไร้ความเห็นอกเห็นใจกันอย่างแท้จริง ดูทุกอย่างมันเป็นเรื่องสมมติ และที่สำคัญความรัก การเอาใจใส่ในชีวิตของคนอื่นๆ รอบตัว มันเริ่มจะเลือนราง และห่างเหินขึ้นเรื่อยๆ
ความรัก โดยทั่วๆ ไปหมายถึงความพึงพอใจระหว่างบุคคลและบุคคล หรือบุคคลกับสิ่งของต่างๆ ความรัก อาจจะหมายถึงความสนุกสนาน หรือการชื่นชมในตัวบุคคลและสิ่งของ แต่ความรักแบบนี้ไม่ใช่ความรักที่พระเจ้าได้ออกแบบไว้กับมนุษย์ผู้ที่พระองค์ทรงสร้างไว้ ความหมายแห่งความรักสำหรับพระเจ้านั้นมีความหมายมากกว่าความพึงพอใจในบุคคลและสิ่งของ
พระธรรมมาระโก บทที่ 12:28-34 เราเห็นเนื้อหาบทสนทนาที่น่าสนใจมากระหว่างธรรมาจารย์และพระเยซู โดยคำถามของธรรมาจารย์เป็นคำถามที่สำคัญ เป็นหัวใจของการดำรงชีพสำหรับชาวยิว ก็คือเรื่องของธรรมบัญญัติ โดยธรรมาจารย์ท่านนี้ถามพระเยซูว่า ธรรมบัญญัติข้อใดใหญ่ที่สุด
บัญญัติประการแรก
“มีธรรมาจารย์คนหนึ่ง เมื่อมาถึงได้ยินเขาไล่เลียงกัน และเห็นว่าพระองค์ทรงตอบเขาได้ดีจึงทูลถามพระองค์ว่า ‘ธรรมบัญญัติข้อใดเป็นเอกเป็นใหญ่กว่าธรรมบัญญัติทั้งปวง’” - มาระโก 12:28
นักกฏหมายชาวยิวรู้ดีว่า คนยิวทุกคนดำเนินชีวิตภายใต้ธรรมบัญญัติ 613 ข้อ โดยแบ่งเป็น 248 ข้อ คือสิ่งที่พึงกระทำ ส่วนอีกกว่า 365 ข้อ เป็นข้อห้ามต่างๆ ซึ่งในมุมมองของกลุ่มนักกฏหมายจะทราบดีว่า กฏข้อห้ามและข้อพึงปฎิบัติตามธรรมบัญญัตินั้นคนยิวทุกคนต้องถือปฏิบัติด้วยความเคร่งครัด และคำถามของธรรมาจารย์ ซึ่งคือนักกฏหมายชาวยิว ที่ถามพระเยซูว่า ภายใต้กฎบัญญัติ 613 ข้อ ข้อใดที่สำคัญที่สุด
ปกติพระเยซูจะไม่ตรัสตอบคำถามของเหล่าพวกธรรมาจารย์แบบตรงไปตรงมา ด้วยว่าพระองค์ทรงทราบเจตนาที่เคลือบแคลงของพวกเรา แต่ในบทสนทนานี้ เราพบว่าพระเยซูตรัสตอบธรรมาจารย์แบบตรงไปตรงมา และเกินความคาดหมายของธรรมาจารย์
พระเยซูจึงตรัสตอบคนนั้นว่า “ธรรมบัญญัติเอกนั้นคือว่า โอ ชนอิสราเอลจงฟังเถิด พระเจ้าของเราทั้งหลายทรงเป็นพระเจ้าเดียว และพวกท่านจงรักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจของท่าน ด้วยสุดความคิดและด้วยสิ้นสุดกำลังของท่าน” - มาระโก 12:29-30
คำตอบของพระเยซูอยู่ในพระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4-5 “โอ คนอิสราเอล จงฟังเถิดพระเยโฮวาห์พระเจ้าของเราทั้งหลายเป็นพระเจ้าเดียว พวกท่านจงรักพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่าน ด้วยสุดจิตสุดใจ และสิ้นสุดกำลังของท่าน” พระเยซูไม่ได้เลือกข้อใดข้อหนึ่งใน 613 ข้อ แต่พระองค์ทรงเลือกตอบด้วย Shema ซึ่งคือคำอธิษฐานประจำวันของคนยิว คนยิวทุกคนจะต้องอธิษฐาน Shema วันละ 2 ครั้ง คือก่อนเข้านอน และตอนตื่นนอน เนื้อหาของคำอธิษฐานนี้คือ พระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4-9
“โอ คนอิสราเอลทั้งหลาย เหตุฉะนั้นขอจงฟัง และจงระวังที่จะกระทำตามเพื่อพวกท่านจะไปดีมาดี และเพื่อท่านทั้งหลายจะทวีมากยิ่งนัก ในแผ่นดินที่มีน้ำนมและน้ำผึ้งไหลบริบูรณ์ ดังที่พระเยโฮวาห์พระเจ้าแห่งบรรพบุรุษของท่านได้ทรงสัญญากับท่าน” “โอ คนอิสราเอล จงฟังเถิด พระเยโฮวาห์พระเจ้าของเราทั้งหลาย เป็นพระเจ้าเดียว พวกท่านจงรักพระเยโฮวาห์พระเจ้า ของท่านด้วยสุดจิตสุดใจและสิ้นสุดกำลังของท่าน และจงให้ถ้อยคำที่ข้าพเจ้าบัญชาพวกท่านในวันนี้อยู่ในใจของท่าน และพวกท่านจงอุตส่าห์สอนถ้อยคำเหล่านั้นแก่บุตรหลานของท่าน เมื่อท่านนั่งอยู่ในเรือน เดินอยู่ตามทาง และนอนลงหรือลุกขึ้น จงพูดถึงถ้อยคำนั้น จงเอาถ้อยคำเหล่านี้พันไว้ที่มือของท่านเป็นหมายสำคัญ และจงจารึกไว้ที่หว่างคิ้วของท่าน และเขียนไว้ที่เสาประตูเรือน และที่ประตูของท่าน” - เฉลยธรรมบัญญัติ 6:3-9
พระธรรมตอนนี้เป็นตอนที่พระเจ้าตรัสกับคนอิสราเอล เพื่อเตรียมชนชาตินี้ก่อนที่จะเข้าไปอยู่ในแผ่นดินแห่งพันธสัญญา พระองค์ประทานบัญญัติ 10 ประการ และทรงกำชับด้วยพระธรรมตอนนี้ เพื่อจะสร้างชนชาตินี้ให้เป็นชนชาติของพระเจ้าอย่างแท้จริง ใจของเขาจะต้องเริ่มต้นให้ถูกต้อง โดยเริ่มต้นที่พระเจ้าเดียว จดจ่อที่พระองค์ โดยพระองค์ใช้คำว่า จงรักพระเยโฮวาห์พระเจ้า ของท่านด้วยสุดจิตสุดใจและสิ้นสุดกำลังของท่าน กล่าวคือ จงรักพระเจ้าด้วยชีวิตทั้งหมด จะคิด จะพูด จะทำ ต้องทำด้วยความรักที่มีในพระเจ้า และพระองค์กำหนดละเอียดเลยว่า เมื่อท่านนั่งอยู่ในเรือน เดินอยู่ตามทาง และนอนลงหรือลุกขึ้น จงพูดถึงถ้อยคำนั้น จงเอาถ้อยคำเหล่านี้พันไว้ที่มือของท่านเป็นหมายสำคัญ และจงจารึกไว้ที่หว่างคิ้วของท่าน และเขียนไว้ที่เสาประตูเรือน และที่ประตูของท่าน หากทำเช่นนี้ได้แล้วท่านจะมีชีวิตที่ไปดีและมาดีในแผ่นดินโลก
คำว่า “รัก” มีบันทึกในพระคัมภีร์ครั้งแรก ในพระธรรมปฐมกาล 22:2 “พระองค์ตรัสว่า ‘จงพาบุตรของเจ้าคืออิสอัค บุตรคนเดียวของเจ้าผู้ที่เจ้ารัก ไปยังแคว้นโมริยาห์ และถวายเขาที่นั่นเป็นเครื่องเผาบูชา บนภูเขาลูกหนึ่งซึ่งเราจะบอกแก่เจ้า”’ คำว่า “รัก” ที่ถูกบันทึกในพระธรรมตอนนี้ คือตอนที่พระเจ้าทดสอบอับราฮัม ให้ถวายบุตรคนเดียวที่พระเจ้าประทานมาให้ และพระเจ้าใช้คำว่า “บุตรคนเดียวของเจ้าผู้ที่เจ้ารัก” นี่คือบททดสอบที่ยิ่งใหญ่ อับราฮัมรักอิสอัคเท่ากับชีวิตของตนเอง อิสอัคคือของประทานจากพระเจ้า คือความหวังเดียวในการขยายพงศ์พันธุ์ เป็นคำสัญญาที่พระเจ้ามีกับอับราฮัม เมื่อพระเจ้าประทานให้ และพระองค์สั่งให้อับราฮัมถวายคืนเป็นเครื่องบูชาถวายแด่พระเจ้า อับราฮัมไม่มีคำข้อแม้ใดเลย ลุกขึ้นและปฏิบัติตามทุกสิ่งที่พระเจ้าสั่งทุกประการ แต่ในที่สุดแล้วทูตสวรรค์ของพระเจ้ากล่าวกับอับราฮัมว่า “อย่าแตะต้องเด็กนั้นหรือกระทำอะไรเขาเลย เพราะบัดนี้เรารู้แล้วว่าเจ้ายำเกรงพระเจ้า ด้วยเห็นว่าเจ้ามิได้หวงบุตรชายของเจ้า แต่ยอมถวายบุตรชายคนเดียวของเจ้าให้เรา” - ปฐมกาล 22:12
รักแรกที่บันทึกพระคัมภีร์นี้คือรักที่อับราฮัมมีต่อพระเจ้า รักด้วยชีวิตทั้งหมด รักโดยมิได้หวงแหนบุตรอันเป็นรัก รักที่ไม่มีข้อแม้ใด และนี่คือความรักของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ซึ่งปรากฏในชีวิตของพระเยซูคริสต์ “เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก จนได้ทรงประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์” - ยอห์น 3:16
บัญญัติประการที่สอง
“ธรรมบัญญัติที่สองนั้นคือ จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” - มาระโก 12:31
ในโทราห์ของคนยิว ให้ความสำคัญกับการดำเนินชีวิตที่ชอบธรรม หมายถึงการมีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับพระเจ้า สำหรับพระเยซูคริสต์ พระองค์ทรงตีความความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับพระเจ้า มีความหมายรวมถึงการปฏิบัติที่ชอบธรรมระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ฉะนั้นบัญ- ญัติแรกคือความรักที่เริ่มต้นที่พระเจ้าแล้ว หากความรักที่มีในพระเจ้านั้นสมบูรณ์ และแท้จริง จะทำให้บัญญัติประการที่สอง คือความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์เกิดขึ้นได้ และเป็นไปอย่างเหมาะสม
พระเยซูทรงอธิบายเรื่องความรักในเพื่อนบ้าน หรือรักมนุษย์ไว้หลายต่อหลายครั้งในคำสอน ไม่ว่าจะคำอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียใจดี ที่พระองค์ตอบกลับบาเรียนที่ตั้งคำถามว่าใครคือเพื่อนบ้าน หรือในคำเทศนาบนภูเขา ที่พระองค์ให้มุมมองความรักระหว่างมนุษย์เอาไว้แบบทวนกระแส ในพระธรรมมัทธิว 5:43-48 “ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้ว่า จงรักคนสนิท และเกลียดชังศัตรู ฝ่ายเราบอกท่านว่า จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน ทำดังนี้แล้วท่านทั้งหลายจะเป็นบุตรของพระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์ เพราะว่าพระองค์ทรงให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ ขึ้นส่องสว่างแก่คนดีและคนชั่วเสมอกัน และให้ฝนตก แก่คนชอบธรรมและคนอธรรม แม้ว่าท่านรักผู้ที่รักท่าน จะได้บำเหน็จอะไร ถึงพวกเก็บภาษีก็ยังกระทำอย่างนั้นมิใช่หรือ ถ้าท่านทักทายแต่พี่น้องของตนฝ่ายเดียว ท่านได้กระทำอะไรเป็นพิเศษยิ่งกว่าคนทั้งปวงเล่า ถึงคนต่างชาติก็กระทำอย่างนั้นมิใช่หรือ เหตุฉะนี้ท่านทั้งหลายจงเป็นคนดีรอบคอบ เหมือนอย่างพระบิดาของท่าน ผู้ทรงสถิตในสวรรค์เป็นผู้ดีรอบคอบ”
รักแบบที่พระเยซูคริสต์ตรัสสอนนั้น ทำได้ยาก แต่ทำได้
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับศิษยาภิบาลท่านหนึ่ง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างช่วงสงครามปฏิวัติในอเมริกา ศิษยาภิบาลท่านนี้ชื่อว่า Peter Miller อาศัยอยู่ในเมือง Ephrata รัฐเพนซิลเวเนีย ท่านมีความสนิทสนมและมีมิตรภาพอันดีกับ George Washington ในเมือง Ephrata มีชายคนหนึ่งชื่อว่า Michael Wittman ชายคนนี้เป็นคนจิตใจไม่ดี ในช่วงสงครามนั้น เขามักจะต่อต้านและทำหลายสิ่งซึ่งเป็นการดูถูกและเหยียดหยามท่านศิษยาภิบาล Miller วันหนึ่ง Wittman เกิดถูกจับข้อหากบฏและถูกตัดสินโทษประหารชีวิต เมื่อศิษยาภิบาล Miller ทราบข่าว ท่านเดินทางด้วยเท้ากว่า 70 ไมล์ ประมาณ 113 กิโลเมตรจากเมือง Ephrata ไปยัง Philadelphia เพื่อจะร้องขอชีวิตชายทรยศคนนี้จาก George Washington ท่าน Washington กล่าวว่า Peter ฉันไม่สามารถยกความผิดของเพื่อนคุณคนนี้ได้หรอก ศิษยาภิบาล Miller รีบแย้งขึ้นมาทันทีว่า “ชายคนนี้ไม่ใช่เพื่อนของผม เขาเป็นศัตรูที่ร้ายกาจคนหนึ่งที่ผมเคยเจอด้วยซ้ำ” ท่าน Washington สงสัยและกล่าวว่า “นี่คุณเดินเท้ากว่า 70 ไมล์เพื่อมาร้องขอชีวิตให้กับศัตรูของคุณนี่นะ นี่คือสิ่งที่ผมไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต คุณทำให้ผมเห็นมุมชีวิตที่แตกต่างทีเดียว” และ George Washington ยอมปล่อยตัว Michael Wittman และ Peter Miller พา Michael Witterman เดินทางกลับบ้านที่ Ephrata แต่ไม่ใช่ในฐานะของศัตรูอีกต่อไป แต่เขาได้กลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน
พระเยซูตรัสว่า “จงรักศัตรูของท่าน และอธิษฐานเผื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน” เพราะความรักจะหล่อหล่อมจิตใจที่แข็งกระด้าง ซึ่งการรักคนที่ไม่น่ารักต้องใช้ความอดทน ความตั้งใจ และอาศัยเวลาที่ความรักและความปรารถนาดีจะหล่อหลอมหัวใจที่แข็งกระด้างของใครสักคนให้ดีขึ้นได้ นั่นหมายความว่า เราต้องมีความรักที่มากพอ มีความอดทนที่มากพอ และมีความตั้งใจที่ยืนหยัดเพียงพอ
“จงรักเพื่อนบ้าน เหมือนรักตนเอง” นั้นเป็นบัญญัติที่สำคัญ และมีความหมายสำหรับชีวิตของผู้ที่เชื่อและศรัทธาในองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะการมีชีวิตอยู่เพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า คือการรับใช้เพื่อนมนุษย์ การเอาใจใส่ซึ่งกันและกันบนพื้นฐานความเชื่อในส่วนดีของกันและกันอยู่เสมอ คือพื้นฐานอันสำคัญที่เกิดจากความรักที่มีในองค์พระผู้เป็นเจ้า
“ฝ่ายธรรมาจารย์คนนั้นทูลว่า ‘ดีแล้วอาจารย์เจ้าข้า ท่านกล่าวถูกจริงว่าพระเจ้ามีแต่พระองค์เดียว และนอกจากพระองค์แล้วพระเจ้าอื่นไม่มีเลย และซึ่งจะรักพระองค์ด้วยสุดจิตใจ สุดความเข้าใจและสิ้นสุดกำลัง และรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ก็ประเสริฐกว่าเครื่องเผาบูชาและของถวายทั้งสิ้น’ เมื่อพระเยซูทรงเห็นแล้วว่าคนนั้นพูดโดยใช้ความคิด จึงตรัสแก่เขาว่า ‘ท่านไม่ไกลจากแผ่นดินของพระเจ้า’ ตั้งแต่นั้นไปไม่มีใครอาจถามพระองค์ต่อไปอีก” - มาระโก 12:32-34
ในการพบเจอกันระหว่างเหล่าธรรมาจารย์ ฟาริสีกับพระเยซูนั้น มีไม่กี่ครั้งที่ปรากฏเป็นการสนทนาธรรมเหมือนในครั้งนี้ พระเยซูทรงเห็นความมุ่งมั่น และเจตนาในการถามคำถามของธรรมาจารย์ท่านนี้ และพระองค์ทรงตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา ด้วยบทบัญญัติที่สรุปชัดเจนและสมบูรณ์ จนไม่มีใครถามสิ่งใดอีกเลย
มนุษย์ต้องรู้จักความรักของพระเจ้าก่อน และเรียนรู้ที่จะรักพระเจ้า ในแบบที่พระองค์ทรงสอน รักพระเจ้าด้วยหัวใจทั้งหมด รักพระเจ้าด้วยความคิดและจิตวิญญาณ รักพระเจ้าด้วยทั้งหมดชีวิตที่มี เพราะพระองค์ทรงรักเราเช่นเดียวกันนี้ รักแรกที่บันทึกพระคัมภีร์คือ รักโดยมิได้หวงแหนบุตรอันเป็นที่รัก รักที่ไม่มีข้อแม้ใด และนี่คือความรักของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ซึ่งปรากฏในชีวิตของพระเยซูคริสต์บนไม้กางเขน พระองค์ทรงรักเราด้วยชีวิตของพระคริสต์บนกางเขน เมื่อเราเข้าใจความรักของพระเจ้าในชีวิตของเรา เราจะมีสายตาแบบพระองค์ เราสามารถรักผู้อื่นแบบที่พระเจ้ารักเราได้ พระเจ้าออกแบบความรักไว้ให้เรากระทำตาม รักแบบที่พระคริสต์รักเรา และโลกนี้จะหมุนด้วยรักของพระเจ้า
มหาตมะ คานธี กล่าวประโยคหนึ่งว่า “Where love is, there God is also” ความรักปรากฏที่ไหน พระเจ้าทรงปรากฎที่นั่นด้วย